วันศุกร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2556

วิชาภาษาไทย


 

วิชา...ภาษาไทย

 
หน่วยการเรียนรู้ที่ 8 แดนมหัศจรรย์ 
เรื่อง คำที่มีตัวสะกดในมาตราแม่กม แม่เกย และแม่กบ  ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1  เวลา 8 ชั่วโมง

สาระสำคัญ / ความคิดรวบยอด
การเขียนสะกดคำที่ประสมพยัญชนะกับสระ และมีตัวสะกด ทำให้เกิดเป็นคำและมีความหมาย สามารถสื่อสารให้เข้าใจได้
 
ตัวชี้วัด / จุดประสงค์การเรียนรู้

 ตัวชี้วัด
   4.1  ป.1/2  เขียนสะกดคำและบอกความหมายของคำ
จุดประสงค์การเรียนรู้
1. อ่านและเขียนคำที่มีตัวสะกดในมาตราแม่กม  แม่เกย  และแม่กบได้
2. บอกความหมายของคำที่มีตัวสะกดในมาตราแม่กม  แม่เกย  และแม่กบได้
สาระการเรียนรู้
สาระการเรียนรู้แกนกลาง
  
คำที่มีตัวสะกดในมาตราแม่กม  แม่เกย  และแม่กบ
 
สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน
ความสามารถในการสื่อสาร
ความสามารถในการคิด

 - ทักษะการคิดวิเคราะห์
ทักษะการคิดสร้างสรรค์
ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต
 - กระบวนการทำงานนกลุ่ม
 
คุณลักษณะอันพึงประสงค์

1. มีวินัย
2. ใฝ่เรียนรู้
3. มุ่งมั่นในการทำงาน
4. รักความเป็นไทย


 

กิจกรรมการเรียนรู้
(วิธีสอนโดยการใช้เกม และวิธีสอนโดยเน้นกระบวนการ : กระบวนการกลุ่ม) 
ชั่วโมงที่ 1-2

1. ครูให้นักเรียนปฏิบัติกิจกรรม ทายซิ อะไรเอ่ย  โดยถามคำถามที่มีคำตอบเป็นคำที่มีตัวสะกดในมาตราแม่กม  ดังนี้

    - อะไรเอ่ย  มาไม่เห็น เย็นจึงรู้  (ลม)

    - อะไรเอ่ย  ตัดโคนไม่ตาย ตัดปลายไม่เน่า  (ผม)

    - อะไรเอ่ย  หุบเท่ากระบอก ดอกเท่ากระด้ง  (ร่ม)

    - อะไรเอ่ย  สาวๆ คับแจ แก่ๆ หลวมโพรก  (มะขาม)

    - อะไรเอ่ย  ไม้เท้าพระยา ซัดเข้าป่าหาไม่พบ  (เข็ม)

2. ครูให้นักเรียนอ่านเนื้อเพลง มาตราแม่กม  พร้อมกัน  แล้วครูร้องเพลงให้นักเรียนฟังและให้นักเรียนร้องตามทีละท่อนจนคล่อง 
                                                 
                     เพลงมาตราแม่กม
 
ทำนอง CLEMENTINE : จังหวะวอลซ์
  นวล   งาม  ยาม  ย่อม         น้อม  พร้อม   ล้อม   ซ่อม
  คำเหล่านี้ล้วนมี  ตัว            ขอให้เราจงจำไว้ให้มั่น
มาตราไทย  นั่นคือ  แม่กม
                                                                                   
 3. ครูให้นักเรียนแต่ละกลุ่มศึกษาความรู้เรื่อง คำที่มีตัวสะกดในมาตราแม่กม  ในหนังสือเรียนแล้วช่วยกันอธิบายให้เพื่อนในกลุ่มฟังจนเข้าใจตรงกัน
4. ครูแบ่งนักเรียนเป็น 2 กลุ่ม  แล้วให้แต่ละกลุ่มร่วมปฏิบัติกิจกรรม บอกคำแม่กม  โดยแต่ละกลุ่มผลัดกันส่งตัวแทนกลุ่มออกมาเขียนคำที่มีตัวสะกดในมาตราแม่กมบนกระดานทีละคำ กลุ่มใดเขียนได้ถูกต้อง จะได้คำละ 1 คะแนน  เมื่อจบเกม  กลุ่มที่มีคะแนนมากที่สุดจะเป็นฝ่ายชนะ
5. นักเรียนคัดคำที่มีตัวสะกดในมาตราแม่กมบนกระดานลงในสมุด  ด้วยตัวบรรจงเต็มบรรทัด แล้วแต่งประโยคจากคำเหล่านั้น จำนวน 5 ประโยค

ชั่วโมงที่ 3
1. ครูให้นักเรียนอ่านเนื้อเพลง มาตราแม่เกย  พร้อมกัน  แล้วครูร้องเพลงให้นักเรียนฟังและให้นักเรียนร้องตามทีละท่อนจนคล่อง 

                                                       เพลง มาตราแม่เกย              
ทำนอง เพลงช้าง/พม่าเขว

  ยักษ์ ยักษ์ ยักษ์                 หนูรู้จักยักษ์หรือไม่

  เห็น ย ยักษ์ อยู่หลังใคร          เป็นมาตราไทย เรียกแม่เกย (ซ้ำ)

                        เช่น เฉย เลย ลาย ตาย เอย
 
2. ครูให้นักเรียนแต่ละกลุ่มศึกษาความรู้เรื่อง คำที่มีตัวสะกดในมาตราแม่เกย  ในหนังสือเรียนแล้วช่วยกันอธิบายให้เพื่อนในกลุ่มฟังจนเข้าใจตรงกัน
3. ครูอธิบายให้นักเรียนฟังว่า คำที่อยู่ในมาตราแม่เกย จะมี ย สะกดเพียงตัวเดียว  ส่วนคำที่ประสมสระ เ-   เช่น  เปีย  เสีย  เตี้ย  ไม่ใช่คำที่สะกดในมาตราแม่เกย
4. ครูแบ่งนักเรียนเป็น 2 กลุ่ม  แล้วให้แต่ละกลุ่มร่วมปฏิบัติกิจกรรม บอกคำแม่เกย  โดยแต่ละกลุ่มผลัดกันส่งตัวแทนกลุ่มออกมาเขียนคำที่มีตัวสะกดในมาตราแม่เกยบนกระดานทีละคำ กลุ่มใดเขียนได้ถูกต้อง จะได้คำละ 1 คะแนน  เมื่อจบเกม  กลุ่มที่มีคะแนนมากที่สุดจะเป็นฝ่ายชนะ
5. นักเรียนคัดคำที่มีตัวสะกดในมาตราแม่เกยบนกระดานลงในสมุด  ด้วยตัวบรรจงเต็มบรรทัดแล้วแต่งประโยคจากคำเหล่านั้น จำนวน 5 ประโยค

 ชั่วโมงที่ 5-6
1. ครูให้นักเรียนปฏิบัติกิจกรรม ทายซิ อะไรเอ่ย  โดยถามคำถามที่มีคำตอบเป็นคำที่มีตัวสะกดในมาตราแม่กบ  ดังนี้

    - อะไรเอ่ย  มีฟันซี่เดียว เคี้ยวไม้ทั้งแผ่น  (กบไสไม้)
     - อะไรเอ่ย  เกิดมามีหางไม่มีขา พอโตขึ้นมามีขาไม่มีหาง  (กบ)
    - อะไรเอ่ย  มีตารอบตัว มีหัวไว้จุก  (สับปะรด)

    - อะไรเอ่ย  เขียวเหมือนพระอินทร์ บินเหมือนนก มีศรปักอก จะว่านกก็ไม่ใช่  (แมลงทับ)

2. ครูให้นักเรียนอ่านเนื้อเพลง มาตราแม่กบ  พร้อมกัน  แล้วครูร้องเพลงให้นักเรียนฟังและให้นักเรียนร้องตามทีละท่อนจนคล่อง 

                                                             เพลง มาตราแม่กบ
ทำนอง เพลงตบแผละ
                                          
จับกบ ตะปบ ประจบ        เสียงดังอบ อบ อบ 
  เห็น บ สะกดที่ใด       ไม่ต้องสงสัย นั่นคือแม่กบ
ประสพ ถูกสาป ก่อบาป      มีลาภ แม่กบ อบ อบ

ดูซิ ยีราฟ นั่นไง        คำเหล่านี้ไซร้ เหมือน บ สะกด
 
 3. ครูให้นักเรียนแต่ละกลุ่มศึกษาความรู้เรื่อง คำที่มีตัวสะกดในมาตราแม่กบในหนังสือเรียน แล้วช่วยกันอธิบายให้เพื่อนในกลุ่มฟังจนเข้าใจตรงกัน
4. ครูแบ่งนักเรียนเป็น 2 กลุ่ม  แล้วให้แต่ละกลุ่มร่วมปฏิบัติกิจกรรม บอกคำแม่กบ  โดยแต่ละกลุ่มผลัดกันส่งตัวแทนกลุ่มออกมาเขียนคำที่มีตัวสะกดในมาตราแม่กบบนกระดานทีละคำ  กลุ่มใดเขียนได้ถูกต้องจะได้คำละ 1 คะแนน  เมื่อจบเกมกลุ่มที่มีคะแนนมากที่สุดจะเป็นฝ่ายชนะ
5. นักเรียนคัดคำที่มีตัวสะกดในมาตราแม่กบบนกระดานลงในสมุด  ด้วยตัวบรรจงเต็มบรรทัดแล้วแต่งประโยคจากคำเหล่านั้น จำนวน 5 ประโยค

 ชั่วโมงที่ 7-8
1. นักเรียนอ่านออกเสียงสะกดคำ คำที่มีตัวสะกดในมาตราแม่กม แม่เกย และแม่กบ ในหนังสือเรียนพร้อมกัน 
2. ครูให้นักเรียนแต่ละกลุ่มปฏิบัติกิจกรรม มาบอกตัวสะกด  โดยครูชูบัตรคำที่เว้นช่องว่างตรงตัวสะกดไว้  ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มคิดหาตัวสะกดมาเติมในช่องว่างให้ถูกต้อง  กลุ่มใดที่เติมได้เร็วที่สุด และถูกต้อง จะได้คำละ 1 คะแนน เมื่อจบเกมกลุ่มที่ได้คะแนนรวมมากที่สุดจะเป็นฝ่ายชนะ 
3. นักเรียนร่วมกันสรุปสาระสำคัญของเรื่อง คำที่มีตัวสะกดในมาตราแม่กม  แม่เกย  และแม่กบ 
4. ครูให้นักเรียนทำแบบฝึกหัดในหนังสือแบบฝึกหัด ดังนี้
      1) อ่านและเขียนจำแนกคำตามมาตราตัวสะกดที่กำหนด
       2) เติมตัวสะกดลงในช่องว่างให้เป็นคำตามที่กำหนด แล้วอ่านออกเสียงคำ
5. นักเรียนทำใบงานที่ 2.1 เรื่อง คำที่มีตัวสะกดในมาตราแม่กม  แม่เกย  และแม่กบ  แล้วร่วมกันเฉลยคำตอบ
6. นักเรียนทำชิ้นงานที่ 8.1 เรื่อง สนุกกับมาตราแม่กม  แม่เกย แม่กบ โดยให้นักเรียนคิดคำที่มีตัวสะกดตามที่กำหนด แล้วเขียนสะกดคำ พร้อมบอกความหมายของคำ 

สื่อ / แหล่งการเรียนรู้
สื่อการเรียนรู้

1. หนังสือเรียน ภาษาไทย (หลักภาษาและการใช้ภาษา)  ป.1
2. แบบฝึกหัด ภาษาไทย ป.1
3. บัตรคำ
4. เพลง มาตราแม่กม
5. เพลง มาตราแม่เกย
6. เพลง มาตราแม่กบ
7. ใบงานที่ 2.1 เรื่อง คำที่มีตัวสะกดในมาตราแม่กม  แม่เกย  และแม่กบ 

 แหล่งการเรียนรู้
1. ห้องสมุด

 

 
 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น